Blog Archives

อภิวัฒน์ท้องถิ่น

อภิวัฒน์ท้องถิ่น

               เป็นหนังสือเล่มน้อยจากการถอดความและเรียบเรียงการบรรยายบนเวที “ปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะคนไทย” ครั้งที่ ๑๒ โดย ไอ้หนุ่มซินตึ้งดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” อดีตนักการเมือง ปัจจุบันนักวิชาการ เจ้าของผลงานอันเลื่องชื่อ “สองนคราประชาธิปไตย” สะท้อนให้เห็นมุมมองหลายด้าน หากยังไม่นับเนื้อหาสาระในเล่ม หัวข้อที่ถกแถลงกันในเวทีที่อุบัติเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๒ ภายหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์มาแล้ว ๗๘ ปี ดูเหมือนประชาธิปไตยไทยจะยังคงก้าวเดินไปไม่ถึงไหน สร้างปัญหาให้ “ราษฎร์” ไทยตลอดมา ร้อนถึงนักวิชาการนักคิดนักพัฒนาชุมชนต้องออกมาค้นคิดวิธีปฏิรูปแก้ไขเพื่อคนไทยได้อยู่ในสภาวะที่มีความสุขสมดังหัวข้อการบรรยาย

               ในเรื่องในเล่มเป็นการบรรยายของดร.เอนก ได้ทำการบ้านสำรวจทฤษฎีการเมืองแบบประชาธิปไตยตะวันตก ที่ปัจจุบันมีลูกแขนงใหญ่ ๆ ๒ แขนง คือ ประชาธิปไตยแบบตัวแทน(Representative government) กับประชาธิปไยแบบปกครองตนเอง (Self government democracy)

               Self government เป็นรากเหง้าของประชาธิปไตยเริ่มทฤษฎีมาจากประชาธิปไตยของยุคกรีกโบราณ ในความหมายที่ประชาธิปไตยคือ ประชาชนปกครองตนเอง ไม่ใช่การเลือกตั้ง ไม่ใช่การมีผู้แทนหรือผู้นำ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างตรงกันข้ามกับความคิดของชาวสยามที่เห็นว่าการปกครองควรจะโดยผู้มีอำนาจ ผู้มีคุณงามความดี ผู้มีชาติตระกูลสูงส่ง ผู้ที่เป็นนักรบ มาปกครองคนธรรมดาผู้เป็นผู้น้อยเช่นเรา เราจึงถูกปลูกฝังหัวให้คิดว่า “เรา” ปกครองตนเองไม่ได้ ในการปกครองของกรีกโบราณนั้นพลเมืองสามารถกำหนดชีวิตของตนเองได้ผ่านการประชุมคนใน “สภาพลเมือง” พลเมืองทุกคนสามารถเข้าประชุมสภาได้เมื่อมีการประชุม สภาพลเมืองมีอำนาจเหมือนสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ สามารถออกกฎหมาย ประกาศสงคราม ยุติสงครามได้ การเลือกคนไปดำรงตำแหน่งไม่ใช้การเลือกตั้งแต่ใช้วิธีจับสลาก ทั้งนี้เพราะกรีกโบราณมีการฝึกคนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพค่อนข้างดี ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถทำหน้าที่เป็นผู้บริหารได้

               ส่วน Representative government มีมูลเหตุจากความใหญ่ของระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบเมืองที่ใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ประชากรในเมืองมากขึ้น ความซับซ้อนมากขึ้น เกิดระบบการแบ่งหน้าที่กันทำ ทำให้เกิดระบบแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อนขึ้น ด้วยความใหญ่และความซับซ้อนของระบบนี้ทำให้การปกครองตนเองผ่านการประชุมสภาพลเมืองย่อมไม่สะดวกไปกว่าการตั้งตัวแทนเพื่อการปกครอง โดยผ่านกรรมวิธี “การเลือกตั้ง” จึงเกิดประชาธิปไตยแบบตัวแทนขึ้น มีนักคิด-ผู้นำที่สนับสนุนการเปลี่ยนประชาธิปไตยทางตรงเป็นทางอ้อมผ่านผู้แทนนี้มีหลายท่าน เช่น แมดดิสัน (Madison) จอห์น สจ๊วจ มิล (John Stuart Mill) มอสกา (Mosca) แม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ชุมปีเตอร์ (Schumpeter) เบเรลสัน (Berelson) เป็นต้น

               ส่วนนักคิด-นักปฏิวัติฝ่ายประชาธิปไตยทางตรงคนสำคัญ ได้แก่ ซาปาต้า (Zapata) จูเวเนล (de Jouvenel) รุซโซ (Rousseau) มองเตสกิเออ (Montesquieu) เดอต๊อกเกอร์วิลล์ (De Tocqueville) บุดชินส์ (Bookchin) มาเดียเวลลี่ (Machiavelli) แมนสบริดจ์ (Mansbridge) มาเรียน ยัง (Marion Young) เดวิส แม็ทธิว (David Mathews) และเปททิส (Petits) หลักคิดของประชาธิปไตยทางตรงอยู่ที่ว่า เสรีภาพ คือ การทำอะไรด้วยตนเอง พึ่งรัฐ พึ่งทางการให้น้อย พลเมืองปฏิเสธแนวคิด “ประชานิยม” ประมาณว่าต้องหยิ่งต่อการเกื้อหนุนจากรัฐนั่นเอง

               ทุกนักคิดดังรายชื่อข้างต้นมีความคิดเป็นของตนเอง รายละเอียดของแต่ละนักคิดจะเป็นเช่นไรคงต้องศึกษาหาอ่านกันในเล่ม กล่าวโดยรวมแล้ว อภิวัฒน์ท้องถิ่น นี้น่าจะเป็นผลึกคิดที่ตกต่อจาก สองนคราประชาธิปไตย โดยผู้บรรยายให้ค่ากับ ความเล็กก็งาม (small is beautiful) ที่ ชูมาร์กเกอร์ (Schumacher) ได้เคยเสนอไว้ กระแสของเล็กอาจจะดูแปลกแยกกับ ความบ้าของใหญ่ที่ฝังในหัวคนไทยอยู่บ้าง แต่กระแสนี้ก็น่าจะสอดคล้องกับหลัก เศรษฐกิจพอเพียง ท้ายเล่มยังได้มีการเสนอแนวคิดเมืองหรือท้องถิ่นสมดุลที่ อบต. อบจ.ควรจะต้องหันมาวิเคราะห์ตนเองว่ามีแพทย์ นักเขียน อาจารย์ ข้าราชการ ฯลฯ เพียงพอต่อเมืองตนเองหรือยัง หรือเมืองโตเดี่ยวอย่างกรุงเทพมหานครสมควรจะถูกแบ่งเป็น นคราภิบาล หรือยัง และควรมีการอุดหนุน (subsidise) บางอาชีพของคนในเมืองตามแบบเมืองพิสตเบิร์กหรือไม่

               บทสรุปของเล่มผู้บรรยายหรือดร.เอนกเชื่อว่า ท้องถิ่นจะเข้มแข็งอยู่สุขได้ด้วยตัวท้องถิ่นเอง โดยที่ท้องถิ่นไม่ควรลอกเลียนส่วนกลางทั้งด้านรูปแบบการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ท้ายสุดของเล่มมีการอภิปรายของหลายผู้รู้ เช่น ดร.เสรี พงศ์พิศ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นพ.พลเดช ปิ่นประดับ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ นพ.ประเวศ วะสี

               แต่ละท่านวิพากษ์เช่นไรหาอ่านได้โดยพลันในเล่ม หนังสือ อภิวัฒน์ท้องถิ่นนี้เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่บ่งบอกแนวคิดภาคทฤษฎีของดร.เอนก ส่วนภาคปฏิบัติ อดีตนักศึกษาหลงป่าปัจจุบันนักวิชาการผู้นี้จะได้กลายร่างเป็น นักสันติวิธี หรือนักประนีประนอมปรองดองเป็นน้ำพริกแม่ประนอมหรือไม่ต้องคอยติดตามกัน ไม่นานคงมีคำตอบ

               และคงได้รู้กันไปว่า ในภาคทฤษฎีที่ตนเคยเชื่อเมื่อต้องนำมาสู่ภาคปฏิบัติแล้วจะต้องฉีกความเชื่อแต่เดิมแห่งตนทิ้งหรือไม่

apivatna_local

ข้อมูลหนังสือ         :

ชื่อหนังสือ              อภิวัฒน์ท้องถิ่น:สำรวจทฤษฎีเพื่อสร้างท้องถิ่นให้เป็นฐานใหม่ของประชาธิปไตย

ผู้เขียน                    ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

พิมพ์ครั้งที่              ๒     มกราคม ๒๕๕๔

พิมพ์ที่                    บริษัท ที คิว พี

จำนวนหน้า            ๖๔ หน้า

ราคา                       ๘๐ บาท