Blog Archives

ฤๅจะพัฒนาอย่างคลุ้มคลั่งดั่ง อัมพวา

ฤๅจะพัฒนาอย่างคลุ้มคลั่งดั่ง อัมพวา

               จากเรื่องราวของจังหวัดเล็กๆที่มีพื้นที่ปกครอง ๓ อำเภอคือจังหวัดสมุทรสงคราม เมืองอัมพวาหรืออำเภอ อัมพวา ถูกกล่าวขานในบทความงานวิจัยหนึ่ง

              ความที่เมืองอัมพวาในชื่อเดิมว่า “บางช้าง” เป็นแหล่งชุมชนสำคัญเมื่อคั้งอดีต เป็นสถานที่เสด็จพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย   สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงมีความเป็นมาและสำคัญทางประวัติศาสตร์ ทั้งยังเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญมาแต่อดีต ได้ชื่อว่าเป็น “สวนนอก” ส่งสินค้าเกษตรเข้ากรุงแข่งกันกับ ”สวนใน” ที่หมายถึง “บางกอก” น้อย และบางกรวย สวนในบางกอก สวนนอกบางช้างจึงเป็นคู่แข่งสินค้าการเกษตรกันมาแต่ก่อน

                เมื่อกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ย่างกรายเข้าสู่สวนนอก ขณะที่สวนในถูกยึดพื้นที่โดยบ้านจัดสรรแล้ว ประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๓ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนริมคลองอัมพวานำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของพื้นที่อัมพวาและพื้นที่โดยรอบ การเปลี่ยนแปลงหอบเอาความโตของเมืองในนิยามความหมายบ่งถึงดัชนีบอกความเจริญ   เมืองโตเท่าไหร่หมายถึงเจริญเท่านั้น หมายถึงเช่นนั้น เพื่อไม่ให้อัมพวาพัฒนาอย่างคลุ้มคลั่งโตผิดรูปผิดร่างไร้เป้าหมายทิศทาง จึงจำต้องมี  กฎคุมเมือง นั่นเป็นที่มาของ “ผังเมืองรวมเมืองอัมพวา พ.ศ. ๒๕๔๕

               กฎคุมเมืองของอัมพวานี้ประกาศใช้ก่อนวันแห่งความรักเล็กน้อยในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๕ มีอายุบังคับใช้ ๕ ปี โดยมรการต่ออายุใช้งานคั้งละ ๑ ปี ๒ ครั้ง จึงหมดอายุเมื่อ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ ผังเมืองรวมฉบับแรกครอบคลุมพื้นที่เมือง ๑๔.๙๔ ตารางกิโลเมตร จัดทำโดยส่วนราชการสังกัด กรมโยธาธิการและผังเมือง ไม่เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำร่างผังเมือง มีเพียงแค่การเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมที่จัดทำเสร็จแล้วเท่านั้น สิ่งที่ส่วนราชการได้รับเป็นผลตอบสนองก็คือ ทัศนคติที่ไม่ดีต่อผังเมืองรวม รวมไปถึงการไม่ให้การยอมรับกฎคุมเมืองที่คิดและจัดทำโดยส่วนราชการแต่เพียงฝ่ายเดียว

             กระทั่งเมื่อมีการจัดทำร่างผังเมืองรวมฉบับที่ ๒ เพื่อใช้ทดแทนฉบับแรกที่หมดอายุ จึงได้มีการ “เปลี่ยนระบบคิด” โดยให้ท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผนสร้างเมืองในนาม ร่างผังเมืองรวม โดยอยู่ในคำช้ีแนะให้เป็นไปตามหลักการ-ทฤษฎีการวางผังเมืองของนักวิชาการ ให้สอดคล้องกับระเบียบแบบแผนของทางราชการ ผลที่ได้คือ การพัฒนาที่ไม่สุดโต่ง เป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน-ประชาชนในท้องที่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ แทนที่จะพัฒนาพื้นที่โดยการขยายถนนเดิมและก่อสร้างแนวถนนใหม่ใหญ่ รวมทั้งสร้างสะพานผ่านกลางชุมชนริมน้ำคลองอัมพวา รองรับกระแสคลั่งไคล้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ดังที่ผังเมืองรวมฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๕ เสนอแนะไว้แต่ขัดต่อหลักการด้านอนุรักษ์เมือง ในผังเมืองฉบับใหม่ที่ท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำในระดับสูงกว่าฉบับแรก เลือกที่จะยกเลิกข้อเสนอดังกล่าว แต่กลับสร้างถนนให้สอดคล้องกับแนวถนนเดิมเขตทางเล็ก ๙ เมตร เพื่อหลีกเลี่ยงการเวนคืนที่ดินและลดการถมลำกระโดงและร่องสวนเพื่อการสร้างทาง แทนการสร้างทางที่มีเขตทางขนาดใหญ่ ๑๔-๒๐ เมตรตามผังเมืองรวมฉบับแรก ส่วนเส้นทางสัญจรบนทางขนาดเล็กก็เลือกที่จะจัดเดินรถทางเดียวและจัดระบบขนส่งมวลชนเฉพาะกิจในวันที่มีตลาดน้ำ

               จะเห็นว่ากระบวน การจัดทำผังเมืองรวมอัมพวา(ปรับปรุงครั้งที่ ๒)ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งอำเภอรวม ๑๗๐.๑๖ ตารางกิโลเมตรนี้ เป็นการลดความหนาแน่นแออัดของประชากรลง โดยท้องถิ่นและประชาชนให้การสนับสนุนทั้งนี้เพราะประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง เมื่อประชาชนได้ประโยชน์ก็จะ “จัดการ” กันอย่างเต็มที่ น่าที่จะกระจายแนวคิด “เปลี่ยนระบบคิด” จากส่วนราชการ “คิด” เทคโนเครต “คิด” แล้วออกกฎให้ชาวบ้าน “ทำ” มาเป็นให้ ชาวบ้าน “คิด” แล้วออกเป็นกฎ ให้ส่วนราชการ “ทำ” ซะทีจะได้มั้ย

               ลองคิดให้ไกลกว่าอัมพวา ให้กว้างระดับประเทศว่า เมื่อไหร่ชาวไท จะได้ร่วมร่างผังประเทศให้ “นายก” ทำกันบ้างซะที

คงได้แต่คิดครับ ไม่ก้าทำ เพราะ หนูกัวถูกดุ

 

Cr: วรรณศิลป์ พีรพันธ์. (๒๕๕๖). ผังเมืองรวมอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม(ปรับปรุงครั้งที่๒) ใน วารสารวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ฉบับที่ ๖๒ ปี ๒๕๕๖. น. ๑๓๙-๑๕๔.