Blog Archives

ผู้เชี่ยวชาญ : ผู้ทำโครงการรัฐล้มเหลว

ผู้เชี่ยวชาญ : ผู้ทำโครงการรัฐล้มเหลว

               โครงการของรัฐ ฟังดูแล้วมีมนต์เสน่ห์อย่างบอกไม่ถูก อาจเป็นเพราะเมื่อได้จัดทำแล้วผู้ได้รับประโยชน์คือ “ลูกรัฐ” นั่นก็คือประชาชน ดังนั้นเมื่อประชาชนหรือก็คือชาวบ้านได้ยิน-รับรู้ถึงโครงการรัฐก็มักจะต้องดีใจคิดไปว่าตัวเองจะได้รับประโยชน์จากโครงการเหล่านั้น เช่นโครงการรถเมล์-รถไฟฟรี โครงการประกันราคาพืชผล ฯลฯ แต่หลายโครงการที่รัฐมีนโยบายริเริ่มและดำเนินการมาก็สร้างความหายนะให้แก่รัฐอย่างมากได้เช่นกัน แต่ก็อาจสร้างประโยชน์ให้ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการเหล่านั้นด้วย

               ย้อนเวลาไปไม่นาน โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์เป็นตัวอย่างที่ดีที่สร้างหนี้ให้รัฐไทยมากมาย รัฐไทยต้องขาดทุนจากโครงการดังกล่าวไปหลายแสนล้านบาท โดยที่ยังไม่สามารถเอาผิดใครได้และยังไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาชดใช้ปัญหาขาดทุน ขณะที่มีผู้ได้ประโยชน์ไปแล้วมากมายโดยเฉพาะกลุ่มเจ้าของโรงสีที่ว่ากันว่ามีเงินซื้อรถสปอร์ตราคาแพงแจกลูกหลานให้ขับเล่น หรือจะเป็นพวกขนข้าวต่างชาติสวมรอยใช้สิทธิ์การรับจำนำ ฯลฯ โครงการเหล่านี้กว่าจะชี้ผิดชี้ถูกก็ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันนานกว่าจะรู้ผล จนเมื่อเร็ว ๆ นี้มีเรื่องตลก(ร้าย)เกี่ยวกับคดีความระหว่างรัฐกับเอกชน เรื่องดังกล่าวคือ โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน” ที่รัฐถูกบริษัทเอกชนที่มีนักการเมืองเป็นเจ้าของและใช้อำนาจรัฐ “ทำ”โครงการดังกล่าวตอนที่ตนมีอำนาจ ตลกตรงที่จากอดีตเป็นผู้คิดโครงการ ปัจจุบันกลายเป็น เจ้าหนี้โครงการ ที่ร้ายก็คือผู้เสียหายคือรัฐ ที่เบ็ดเสร็จแล้วผลกรรมจะตกแก่ ลูกรัฐ อันหมายถึงประชาชนหรือ ชาวบ้าน ที่ต้องจ่ายภาษีเพื่อไปใช้หนี้คดีความ

               ย้อนเวลาไปอีกนิดเพื่อระลึกถึงโครงการระดับ “ตำ……..นาน” ที่ใช้ระยะเวลายาวนานมากกว่าจะขยับเขยื้อนกันต่อได้ ตำนานที่ว่าคือ โครงการที่นายกอร์ดอน วู นักธุรกิจชาวฮ่องกงที่เซ็นสัญญากับรัฐไทยในสมัยรัฐบาล “บุปเพ่คาบิเน็ต” สร้างทางรถไฟลอยฟ้าพร้อมทางด่วนมีชื่อเรียกว่า “โครงการโฮปเวล” ต่อมาระยะหลังชาวบ้านเรียกเพี้ยนเป็น “โครงการโฮปเวร” แต่หลายคนรู้จักในนาม “โฮปเลส” แปลเป็นไทยว่า โครงการที่สิ้นหวัง ว่ากันว่าโครงการนี้อนุมัติกันจากโครงการที่เขียนบนกระดาษเอสี่ ๑ แผ่น เท็จจริงประการใดคงต้องจุดธูปถามเจ้าของต้นคิดโครงการกันครับ อนุสรณ์ความอัปยศของโครงการนี้ปักอยู่ตามทางรถไฟสายเหนือช่วงรังสิต-ดอนเมือง-บางซื่อ เสาตอม่อโด่เด่ของโครงการโฮปเวลที่ล้มเหลวต้องถูกรื้อถอนเพื่อหลีกทางให้แก่โครงการรัฐโครงการใหม่ที่ชื่อว่า “ทางรถไฟสายสีแดง” ที่ยังไม่ทราบว่าจะเหลวหรือจะสำเร็จ แต่ที่รู้อยู่แน่ ๆ ก็คือโครงการรถไฟสายสีแดงในช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันที่ต้องแล่นข้ามสะพานพระราม๖นั้นสร้างรางและสถานีเสร็จนานแล้วแต่ไม่มีขบวนรถวิ่งซะที น่าจะเพราะผู้รับผิดชอบเอาเวลาไปใส่ใจ โครงการรถไฟรางมาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตร  ที่ผลตอบแทนน่าสนใจกว่า

               ระบบขนส่งทางรางที่รัฐคิดจะทำและร่วมสมัยกับ โฮปเวล ยังมีและทิ้งหลักจารึกซากความล้มเหลวไว้ให้เห็น ถ้าใครข้ามไปมาระหว่างวงเวียนเล็ก-ฝั่งธนกับพาหุรัด-สำเพ็งในฝั่งพระนคร จะเห็นซากสิ่งก่อสร้างระหว่างกลางช่องจราจรของสะพานพระปกเกล้า มันเป็นที่ระลึกของ รถไฟฟ้าลาวาลิน” ที่จวบจนปัจจุบันนี้ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากซากตอม่อรถไฟฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานี้เลย น่าเสียดายเงินลงทุนก่อสร้างและยังคงสงสัยว่า ใครควรจะต้องรับผิดชอบความล้มเหลวของโครงการนี้ คิดดูว่าถ้าโครงการนี้สร้างเสร็จชาวฝั่งธนคงไม่ต้องทนนั่งรถติดข้ามเจ้าพระยาเข้าเมืองมาในฝั่งพระนครอย่างทุกวันนี้แน่นอน

               การขนส่งทางน้ำก็ไม่น้อยหน้าไปกว่ากันในเรื่องความล้มเหลว ยกตัวอย่างให้เห็น โครงการท่าเรือภูเก็ต” ที่ออกแบบให้เชื่อมทะเลอันดามันกับทะเลฝั่งอ่าวไทยที่ “ท่าเรือน้ำลึกสงขลา” โดยมี สะพานติณสูลานนท์ข้าม เกาะยอ เชื่อมท่าเรือทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ผลปรากฏว่าในปัจจุบันท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตได้ใช้ประโยชน์แค่รองรับเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ไม่ได้ใช้ขนส่งสินค้าตามที่ตั้งใจออกแบบโครงการไว้ และท่าเรือน้ำลึกสงขลาก็ทำท่าว่าจะได้น้องเป็น “ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ ๒” จากโครงการเชื่อมทะเลทางบก (Land Bridge) จากท่าเรือน้ำลึกปากบาราท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ ๒ อันเป็นโครงการรัฐโครงการใหม่ที่อ้างว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยพ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๖๕ ที่ไม่ต้องรอดูก็รู้ว่าน่าจะล้มเหลวเช่นเคย

               หากจะสรุปบทเรียนจากความล้มเหลวของโครงการของรัฐที่ยกตัวอย่างมาจะพบว่า โครงการต่าง ๆ มิได้คำนึงถึงประโยชน์ของลูกรัฐอย่างแท้จริง แต่ละโครงการมักจะเคลือบแฝงผลประโยชน์ของกลุ่มทุนไม่ว่าจะเป็น กลุ่มทุนการเมืองของนักการเมือง กลุ่มทุนข้ามชาติ หรือประโยชน์แฝงจากค่าใต้โต๊ะที่เรียกเก็บโดยนักการเมือง ชาวบ้าน-ประชาชนตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ มักไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเท่าไหร่แต่ต้องแบกรับภาระความล้มเหลวที่เกิดอย่างเลี่ยงไม่ได้(ทั้งนี้เพราะชาวบ้านเลี่ยงภาษีไม่ได้)  การเกิดของแต่ละโครงการมักอ้างความเห็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่มักรับใช้ “ทุน” เสมอ ในทุก ๆ โครงการที่รัฐดำเนินการจึงต้องมี  “ผู้เชี่ยวชาญ” ยืนยันความดีสุดยอดของโครงการก่อนดำเนินการ ซึ่งแน่นอนการจ้างผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์โครงการย่อมได้คำตอบที่เป็นบวกต่อโครงการ หมายถึง ผู้เชี่ยวชาญ ย่อมต้องชี้ชวนให้เชื่อถึงความดีสุดยอดของโครงการที่ต้องทำให้ได้   ผู้เชี่ยวชาญ จึงเสมือนยันต์กันผีบ้าผีบ่น กันคนคัดค้าน ส่วนผู้ไม่เชี่ยวชาญอย่างชาวบ้านอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็ต้องรับผลกรรมกันไป

thaiGrovFail

               ชาวบ้านแม้จะเป็นผู้รู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างรอบคอบลึกซึ้ง มิใช่ผู้เชี่ยวชาญตามการจดทะเบียนหรือตามกฎหมาย จัดได้ว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญตามธรรมชาติ” หรือเป็น “ปราชญ์ชาวบ้าน”     เป็นบุคคลที่รัฐควรต้องถามความเห็นเสมอเมื่อจะดำเนินโครงการใด ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่รอบคอบลึกซึ้ง จะช่วยหลีกเลี่ยงการเกิด โครงการ รัฐ(ที่)ล้มเหลว ได

ในทุกกรณี รวมถึงโครงการ จัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย